• 18 May 2024 17:21

THE FLOWS Thailand

นำเสนอข่าวสาร ทุกสารพันข่าว ข่าวการเมืองเข้ม

รมว.ทส. มอบกรมทะเลชายฝั่ง จัดประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล เสริมสร้างความรู้ – แลกเปลี่ยนประสบการณ์ – พัฒนาศักยภาพเครือข่ายฯ

Bytheowneroftheflows

Sep 15, 2023

วันที่ 13 กันยายน 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรมฯ โดยมีดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กล่าวรายงาน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

พร้อมด้วยนายเกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สมุทรสาคร) ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรม ทช. ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณ 600 คน ณ โรงแรมฟาวน์เท่นทรี รีสอร์ท อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา


นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยในขณะเป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ ว่า จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล อันส่งผลกระทบและสร้างความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรเป็นอย่างมาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งมีพันธกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก และเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ที่มุ่งเน้นเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับพี่น้องเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วน อีกทั้งส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของทุกเครือข่ายอย่างเต็มที่

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) 

โดยท่านได้กำชับให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คอยกำกับ ดูแล หน่วยงานในสังกัด ทส. อย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน ผ่านการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 จัดประชุมภาคีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 ครั้ง ในห้วงของเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และวางกรอบแนวคิดการทำงาน

ซึ่งภายหลังจากการประชุมแล้วเสร็จ เบื้องต้นได้มีการสรุปประเด็นข้อเสนอแนะออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และด้านการกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมดังกล่าวกรมฯ จะได้นำมาเป็นแนวทางการกำหนดแผนงานในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจถึงปัญหาในระดับพื้นที่ ร่วมกันพิจารณาและกำหนดกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อต่อยอดในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ


นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวถึงความสำเร็จในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องเครือข่ายฯ ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ว่า ปัจจุบันกรมฯ มีจำนวนชุมชนชายฝั่งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว รวมทั้งสิ้น 663 ชุมชน มีจำนวนสมาชิก 17,242 คน และมีจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ 29,125 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรสำคัญ ที่คอยช่วยเป็นหูเป็นตาและสอดส่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมขับเคลื่อนการอนุรักษ์เชิงรุก โดยมุ่งเป้าไปที่ความยั่งยืนของทรัพยากรหน้าบ้านของชุมชน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การวางซั้งปลา การปลูกปะการัง การปลูกหญ้าทะเล การปลูกป่าชายเลน และการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับเยาวชน จากความมุ่งมั่นในความสำเร็จ กรมฯ เดินหน้าสานต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านเวทีการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ

ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 กันยายน 2566 ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำผู้แทนเครือข่ายฯ ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล มาร่วมพูดคุยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงกำหนดแนวทาง กรอบความคิดอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภายในการประชุมเครือข่ายฯ ได้มีกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้มากมาย ประกอบด้วย การบรรยายถึงบทบาทหน้าที่เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ การสรุปประเด็น ข้อเสนอแนะ โครงการประชุมภาคีเครือข่าย อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1 – 10 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในด้านต่างๆ และสรุปแนวทาง และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 นอกจากนี้ ได้มีพิธีมอบรางวัล “ชุมชนชายฝั่งปลอดขยะ”

โดยคัดเลือกชุมชนชายฝั่งที่มีผลงานด้านการบริหารจัดการขยะโดดเด่น ในระดับพื้นที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สทช.) ละ 1 ชุมชน จำนวน 10 ชุมชน มานำเสนอผลงานให้ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนแห่งชาติ และคณะทำงานโครงการประกวดชุมชนชายฝั่งปลอดขยะ พิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้คะแนน ทั้งนี้ ได้พิจารณาคัดเลือกชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ประเภท ดังนี้ รางวัลด้านการบริหารจัดการขยะดีเด่น ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง ต.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ รางวัลด้านการมีส่วนร่วมการจัดการขยะ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าดินแดง จ.พังงา และรางวัลด้านการแปรรูปและการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์จากขยะ ได้แก่ ชุมชนชายฝั่งกิ่งแก้ว ซอย 1 จ.ภูเก็ต ส่วนอีก 7 ชุมชน ที่ได้รับการพิจารณาในระดับพื้นที่ กรมฯ ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นต้นแบบที่มีการบริหารจัดการขยะให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนทั่วไป สำหรับพิธีมอบรางวัล “เครือข่ายชุมชนชายฝั่งดีเด่น ประจำปี 2566” กรมฯ ได้คัดเลือกชุมชนชายฝั่งในระดับพื้นที่ที่มีผลงานดีเด่น อีกด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ผลักดันโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำเป็นต้องใช้แนวทางที่ถูกต้อง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ซึ่งแผนบริหารจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ระยะเวลา 5 ปี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมและการจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุล สุดท้ายนี้ ความมั่นคงและความสมดุลของทรัพยากรต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถ้าเราทุกคนพร้อมใจกันเดินไปในทิศทางเดียวกัน กรมฯ พร้อมเป็นส่วนราชการที่จะก้าวไปพร้อมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ มั่งคง และยั่งยืนสูงสุดต่อไป “นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย”

สำนักข่าว The Flows ThaiLand

Loading

Facebook Comments Box

Related Post

ทส. เชิดชูเกียรติ 35 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศยกระดับศักยภาพท้องถิ่น ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero
พล.ต.อ.พัชรวาทฯ สั่งการด่วนให้ออกระเบียบที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา กรณีประชาชนถูกลิงทำร้าย
พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดกิจกรรมพิเศษให้นักเรียน นักศึกษา ช่วยงานอุทยานแห่งชาติ เพื่อได้ยังประโยชน์ และเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Social Share Buttons and Icons powered by Ultimatelysocial