• 29 March 2024 20:17

THE FLOWS Thailand

นำเสนอข่าวสาร ทุกสารพันข่าว ข่าวการเมืองเข้ม

พิจารณา พรบ.ทรมาน-อุ้มหาย ครั้งที่ 5-7 เพิ่มฐานความผิดครอบคลุมการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ พร้อมระบุคดีต้องไม่มีอายุความ อัยการ-ฝ่ายปกครองต้องร่วมสอบสวนคดีได้ ขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปนิยาม “ผู้เสียหาย” ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกัน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25-27 พ.ย. 2564 ณ สภาผู้แทนราษฎร เกียกกาย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ได้จัดการประชุมครั้งที่ 5-7 เพื่อเร่งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ชื่อเดียวกัน ฉบับของรัฐบาล ในรายมาตราให้แล้วเสร็จก่อนสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมใหม่ ในวันที่ 3 พ.ย. 2564 ที่จะถึงนี้

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญในสัปดาห์นี้ ได้รับเกียรติจาก นายกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มาเข้าร่วมประชุม และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญคนใหม่ รวมทั้งมีผู้แทนจากหน่วยงานหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ผู้แทนผู้พิพากษาสำนักประธานศาลฎีกา และผู้แทนอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมประชุมในบางวันด้วย

สาระสำคัญในที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สัปดาห์นี้ คือการหาข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับนิยามคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ในมาตรา 3 เช่น คำว่า “ผู้เสียหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” “คณะกรรมการ” แต่จนแล้วจนรอด นิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ที่ต้องการให้หมายรวมถึงคำว่า “คู่ชีวิต” หรือใช้ถ้อยคำอื่นใด เพื่อให้ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกันได้ยังไม่มีข้อสรุป และจำเป็นต้องแขวนเพื่อรอพิจารณาในสัปดาห์ถัดไปอีกครั้ง

ในส่วนของนิยามการกระทำความผิด มาตรา 5 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการทรมาน ได้มีการปรับแก้ โดยเพิ่มคำในมาตรา 5 (4) “เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด” เพื่อให้ครอบคลุมทุกการกระทำอันมีพื้นฐานมาจากการเลือกปฏิบัติ แทนคำว่า “การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” และเพื่อให้เป็นไปตามข้อบทของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ขณะที่นิยามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังคงมีความคลุมเครืออยู่มาก เนื่องจากในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ไม่ได้กำหนดคำนิยามไว้ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ฉบับของรัฐบาลไม่มีการระบุฐานความผิดนี้ แต่เมื่อที่ประชุมมีความเห็นให้ปรับถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญา จึงต้องหารือถึงขอบเขตความหมายของการกระทำความผิดฐานนี้ในมาตราที่มีบทกำหนดโทษต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพิจารณาให้ความผิดที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นความผิดไม่มีอายุความ แต่ก็ความเห็นแย้งจากกรรมาธิการบางส่วนว่า ปัจจุบันฐานกระทำความผิดในคดีอาญาทุกฐานความผิดมีอายุความ ฐานความผิดตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงควรกำหนดอายุความด้วย ในส่วนกรณีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายอาจให้เริ่มนับอายุความภายหลังพบหรือทราบชะตากรรมของผู้เสียหายแล้ว โดยที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้มีตัวแทนญาติของผู้เสียหายจากการกระทำให้บุคคลสูญหายถึง 2 กรณี ได้แก่ กรณีฮะยีสุหลง โต๊ะมีนา และกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งตัวแทนญาติของผู้เสียหายทั้ง 2 กรณี ยืนยันให้ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไม่มีอายุความ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะต้องมีการลงมติในประเด็นดังกล่าว

รวมทั้ง ในรายมาตรา 26 ฉบับของรัฐบาล ที่ระบุให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการสอบสวน ตรวจสอบและควบคุมการสอบสวน เว้นแต่คดีที่เจ้าหน้าที่ DSI ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เสนอให้มีการแก้ไขรายมาตราดังกล่าว โดยเสนอว่า นอกจากพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอยู่แล้ว ควรให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจสอบสวนคดีด้วย เพราะเห็นว่าการให้ DSI มีอำนาจสอบสวนแต่เพียงหน่วยงานเดียว จะเป็นผลให้ไม่มีการตรวจสอบและคานอำนาจจากพนักงานสอบสวนอื่น สำหรับการเสนอให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนด้วยนั้น แม้ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดจะยืนยันว่า อัยการมีความพร้อมในการสอบสวนคดีตาม พ.ร.บ.นี้ ก็ตาม แต่กรรมาธิการบางส่วนก็ยังคงมีความเห็นว่า อำนาจในการสอบสวนควรเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น เป็นผลให้อาจต้องมีการลงมติในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนด้วย

โดยที่ประชุมมีมติให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 1-2 พ.ย. โดยหวังเร่งให้เสร็จทันเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้าที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงอยากขอให้ผู้ที่สนใจร่วมติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ที่จะเกิดในสัปดาห์อีก 2 ครั้ง และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า จะมีมติผ่านร่างเป็นเช่นไร และจะสามารถได้มาซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนทุกกลุ่มหรือไม่?

—————————————

#การเมือง

#TheFLOWsข่าวสาร

#พรบทรมานอุ้มหาย

#พรบอุ้มต้องไม่หาย

#พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี

#ไร้ข้อสรุปนิยามผู้เสียหาย

Loading

Facebook Comments Box

Related Post

‘ชนะศักดิ์’ อัดเด็กหน่อยไร้มารยาท ย้อนกลัว ‘แรมโบ้’ เป็นส.ส.ขวางแก้กม.ทำลายสถาบันหรือ
‘สามารถ’ ประกาศขอเดิมพัน หาก’เพื่อไทย’ยกเก้าอี้ประธานสภาให้’ก้าวไกล’ ตนจะยอมโกนหัว!
‘น้องแรมโบ้’ ฟาดกลับ ‘ตรีชฎา’ กวาดบ้านตัวเอง ก่อนจุ้นบ้านนายกฯบิ๊กตู่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Social Share Buttons and Icons powered by Ultimatelysocial