• 20 April 2024 20:52

THE FLOWS Thailand

นำเสนอข่าวสาร ทุกสารพันข่าว ข่าวการเมืองเข้ม

” ชู บุน เอ็ง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กัมพูชา ขอหารือไทยเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหา-เอื้ออำนวยความสะดวก แรงงานเขมรกว่า 1 ล้านคน

Bytheowneroftheflows

Jun 4, 2023

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นาง ชู บุน เอ็ง รองประธานถาวรคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์(Permanent vice-chair of the National Committee for Counter Trafficking -N.C.C.T) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(Secretary of State of Ministry of Interior)กัมพูชา ได้เดินทางพบปะกับแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สำโรง โดยมีผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมได้แก่ ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และผู้แทนสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ

นาง ชู บุน เอ็ง ได้เดินทางมามาไทยพร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงรวม 13 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทางกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ และผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยได้ไปตรวจความพร้อมของศูนย์ประสานงานเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือแรงงานกัมพูชาในการออกเอกสารและหนังสือแสดงตัวเพื่อให้ถูกต้อง ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งได้ไปตรวจเยี่ยมการทำงานของแรงงานในโรงงานพื้นที่สมุทรปราการและชลบุรี

ในการพบปะกับแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ ที่ทำงานจากหลากหลายภาคธุรกิจ นางบุน เอ็ง ได้กล่าวว่า การเดินทางมาเยี่ยมแรงงานครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงต่างๆในกัมพูชา เพื่อติดตามสถานการณ์ของแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งจากการพบปะกับแรงงานกัมพูชาก่อนหน้านี้พบว่า ชาวกัมพูชาที่มาทำงานในไทยมาจากหลายจังหวัดของกัมพูชา และมีบางส่วนที่ทำงานในไทยเกินกว่า 5 ปี แต่ก็มียังมีบางส่วนที่ยังทำงานอย่างไม่ถูกต้องในไทย

“ด้วยความร่วมมือระหวางรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา จึงมีการดูแลแรงงานกัมพูชา ไม่วาจะอยู่ที่ไหนในไทย เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานในไทยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆให้แรงงาน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า และตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ขอขอบคุณรัฐบาลไทย นายจ้างไทยที่ให้แรงงานกัมพูชามาทำงานในไทยได้อย่างดี แม้แรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งยังไม่ได้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลไทยก็เปิดให้ทำงานได้ อย่างไรก็ตามต้องมีกฎหมายเพื่อให้แรงงานทำงานได้อย่างถูกต้อง” นางบุน เอ็งกล่าว

นางบุน เอ็งกล่าวว่า แรงงานกัมพูชาในไทยมีหลากหลายและบางส่วนทำงานมานานหลายปี โดยแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นแรงงานที่เข้ามาตาม MoU ส่งมาจากกัมพูชาโดยตรง กลุ่มที่สอง เป็นแรงงานที่เข้ามาโดยไม่ผ่าน MoU

สำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานนั้น นางบุน เอ็งกล่าวว่า ได้มีการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2019 โดยได้แก้ไขให้แรงงานเป็นแรงงานที่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้แรงงานกัมพูชาที่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องมี 3 ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง เป็นแรงงานที่ทำงานอย่างถูกต้องตาม MoU ประเภทที่สอง แรงงานที่ได้รับการลงทะเบียนและถือบัตรสีชมพูตามที่รัฐบาลไทยกำหนด และประเภทที่สาม เป็นแรงงานที่รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนอีก 34,000 คน

อย่างไรก็ตามในปีนี้สถานะแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายกำลังสิ้นสุด และไม่สามารถทำงานในไทยได้ รัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการขยายเวลาเพื่อให้แรงงานกัมพูชาทำงานในไทยต่อไปได้

โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เพื่อจัดเตรียมเอกสารการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน

“รัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐบาลกัมพูชากับรัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อให้แรงงานกัมพูชาทำงานได้อย่างถูกต้อง เราพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ยังแก้ไม่ได้ 100% ดังนั้นในนามรองประธาน N.C.C.T จึงได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ และเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างไม่ถาวรแบบนี้ได้ และพยายามแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ตามแนวทางที่วางไว้ รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ทอดทิ้งแรงงาน เราพยายามแก้ไขอย่างถูกวิธีเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ถูกต้อง” นางบุน เอ็งกล่าว

นางบุน เอ็งกล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมามีการพบปะกับ นายยศสิงห์ เหลี่ยมล้ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เพื่อหารือในเรื่องของแนวทางการช่วยเหลือแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย และวางแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้แรงงานกัมพูชาสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างถาวรตามระเบียบของประเทศไทย

“เราจะประชุมกับกระทรวงแรงงานไทย เพื่อประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราก็ได้รับทราบว่ารัฐฐาลไทยเองก็มีความเป็นห่วงแรงงานกัมพูชาและแรงงานจากชาติอื่นๆ พร้อมแก้ไขปัญหาและให้ความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้แรงงานทำงานที่ประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง ในวันนี้จึงต้องการรับฟังปัญหาและความกังวลของแรงงานเพื่อนำไปพิจารณาทางแก้ไขต่อไป ขอให้แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในไทยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้แรงงานทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

สำหรับปัญหาที่แรงงานหยิบยกมานำเสนอในการพบปะกับนาง บุน เอ็ง ได้แก่ ข้อแรกหนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุ แต่จากมติครม.ไทยวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผ่อนผันให้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลกัมพูชามีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร เพราะยังต้องการทำงานในไทยต่อไป ซึ่งนางบุน เอ็งชี้แจงว่า โดยทั่วไปหากหนังสือเดินทางหมดอายุก็ควรดำเนินการต่ออายุเพื่อดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจน รัฐบาลกัมพูชาจะหารือเพื่อพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่ปัจจุบันก็มีแรงงานที่มีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ บางส่วนมีหนังสือเดินทางที่ใกล้จะหมดอายุ และมีบางส่วนที่ไม่มีหนังสือเดินทางแต่มาลงทะเบียน ดังนั้นรัฐบาลจะหารือและหาแนวทางประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสองฝ่าย

ปัญหาข้อที่สองที่แรงงานระบุ คือ ค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทางสูง ซึ่งนางบุน เอ็งชี้แจงว่า เอกสารประจำตัวของแรงงาน ประเภทแรกคือ หนังสือเดินทาง ซึ่งมี 2 แบบ แบบแรกคือ เล่มสีดำ มีอายุ 5 ปีสำหรับแรงงานที่ออกไปทำงานอกประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ส่วนเล่มมีเลือดหมูมีอายุ 10 ปี แต่ค่าธรรมเนียมนั้นได้มีการกำหนดไว้แล้ว ส่วนที่แรงงานบอกว่าค่าใช้จ่ายสูงนั้นอาจจะเป็นเพราะได้ให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการแทน และไม่ได้คิดค่าบริการตามที่ได้กำหนด

ปัญหาข้อต่อไปได้แก่ แนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามมติครม.กำหนดให้ต้องต่อวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ แต่จากที่ได้ทำตามมติครม.พบว่า ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงอยากให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยเหลือขอลดค่าใช้จายลง ซึ่งผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ชี้แจงว่า ค่าธรรมเนียมในการต่ออายุและการต่อวีซ๋าเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ปัญหาที่ได้รับในวันนี้จะรับเรื่องไว้ และจะนำไปเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณา

นางบุน เอ็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความกังวลต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเลย และแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายนานหลายปีและไม่สามารถระบุสัญชาติได้เพราะไม่มีเอกสาร รวมทั้งลูกหลานของแรงงานเหล่านี้ก็อาจจะไม่มีเอกสารแสดงตนไปด้วย ทำให้เมื่อถึงวัยทำงานอาจจะไม่สามารถลงทะเบียนเป็นแรงงานได้ รัฐบาลกัมพูชาจึงต้องการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ด้วย อย่างไรก็ตามฝ่ายกัมพูชาไม่มีข้อมูลจำนวนแรงงานกลุ่มนี้ต้องรอข้อมูลจากรัฐบาลไทย

สำหรับแรงงานกัมพูชาในประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน ทั้งที่เข้ามาตามบันทึกข้อตกลงระดับรัฐบาล(MoU)และที่ได้ทำการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว จำนวนแรงงานได้ขึ้นทะเบียนแล้วและอยู่ระหว่างรอทำหนังสือเดินทางมีประมาณ 250,000 คน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชา มาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้เพื่อพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการออกหนังสือเดินในไทยให้แก่แรงงาน ในเร็วๆนี้

ไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับ Senghok Phorn แรงงานกัมพูชาที่ได้เข้าร่วมการพบปะกับ นางบุน เอ็งในวันนี้ด้วย โดย Senghok ซึ่งพูดไทยได้บอกว่า เป็นชาวกัมปงจาม เข้ามาทำงานได้ 6 ปีแล้วพร้อมกับภรรยา แต่หลังจากมีลูกได้ให้ภรรยากลับไปกัมปงจามเพื่อเลี้ยงดูลูกที่กัมพูชา ปัจจุบันตัวเขาเป็นลูกจ้างประจำแผงร้านค้าในตลาดสำโรง มีรายได้เดือนละ 12,000 บาท และไม่ได้กินและพักกับเถ้าแก่ อย่างไรก็ตามเถ้าแก่ก็จะให้อาหาร ของกินเป็นครั้งคราว และบางครั้งให้ซองแดงวันตรุษจีนบ้าง อย่างไรก็ตาม Senghok ยังสามารถส่งเงินกลับบ้านได้บ้างเป็นครั้งคราวผ่านธนาคาร

Senghok บอกว่า ตัวเขาไม่มีบัตร 30 บาทและไม่มีประกันสังคม เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง ส่วนการต่ออายุทำงานนั้นที่ผ่านมา ไม่ประสบปัญหาในการต่ออายุ โดย Senghok ต่ออายุครั้งละ 2 ปีและออกค่าใช้จ่ายเอง 8,000 บาท ซึ่งก็ต้องเก็บเงินที่ได้จากการทำงานเป็นระยะเพื่อสะสมไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังต่ำกว่าการเข้ามาทำงานครั้งแรกที่ต้องจ่ายให้นายหน้ารวมทั้งหมด 18,000 บาท

Senghok ได้โชว์หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ และหนังสือประจำตัวแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนและต่ออายุเรียบร้อยแล้ว แต่บอกว่า สำหรับแรงงานทั่วไปหากหนังสือเดินทางหมดอาบุมักจะถามนายหน่าก่อนว่า จะต้องกลับไปกัมพูชาเพื่อต่ออายุหนังสือเดินทางหรือไม่ หากนายหน้าบอกว่าต้องกลับ แรงงานก็จะกลับกัมพูชาเพื่อต่ออายุหนังสือเดินทาง แต่หากบอกว่าไม่ต้องกลับ แรงงานก็จะไม่กลับ

Senghok ปิดท้ายว่าเขาเป็น “แรงงานที่ถูกกฎหมาย และไม่มีปัญหา”

แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
1. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้คนต่างด้าว ดังต่อไปนี้ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
1.1 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารหลักฐานครบถ้วน ที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

1.2 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

2. เห็นชอบให้
2.1 คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 1) – 3) เมื่อดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หากประสงค์จะทำงานต่อไปจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และหากประสงค์จะทำงานต่อไป จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
2.2 คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 4) เมื่อดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้ได้รับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

3. การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
3.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้
1) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.1 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
2) อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2 ซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

3.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

3.3 กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงขั้นตอนการขายประกันสุขภาพให้คนต่างด้าว ดังต่อไปนี้ สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

3.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการดังนี้
1) ตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.1 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามสิทธิ์เดิมที่ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
2) ตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้คนต่างด้าวตามข้อ 1.2

3.5 กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายปกติ ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน ได้มีการประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้พิจารณาตรวจร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ควบคู่ไปกับการเสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วยแล้ว

4. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: C) ของทางการเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการจังหวัดระนอง และจังหวัดชลบุรี รวมทั้ง ให้หน่วยงานของกรมการจัดหางานและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมดำเนินการภายในพื้นที่บริเวณเดียวกัน รวมถึงหากทางการเมียนมาร้องขอสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่การออกเอกสารรับรองบุคคล หรือการออกหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ ให้ทางการเมียนมามีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการไม่เกินวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 โดยให้ทางการเมียนมาสามารถดำเนินการได้ในโอกาสแรกนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ในส่วนของทางการลาวและทางการกัมพูชา หากประสงค์จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้มีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2566

5. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

สำนักข่าว The Flows ThaiLand

Loading

Facebook Comments Box

Related Post

Social Share Buttons and Icons powered by Ultimatelysocial