• 20 April 2024 11:59

THE FLOWS Thailand

นำเสนอข่าวสาร ทุกสารพันข่าว ข่าวการเมืองเข้ม

จุฬาฯ คาดขึ้นทะเบียน ChulaCov 19 ปีหน้า ชี้ ประสิทธิภาพเทียบชั้น “ไฟเซอร์”

Bytheowneroftheflows

Nov 18, 2021

วันที่ 18 พ.ย. 2564 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าว “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA “ChulaCov19” เปิดเผยว่า จากการทดลองในห้องปฏิบัติการหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น

การทดลองนี้ใช้การฉีดวัคซีนที่ปริมาณ 10 20 และ 50 ไมโครกรัม แล้วเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ChulaCov19 กับการติดเชื้อตามธรรมชาติที่เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมจากเมืองอู่ฮั่น และจากวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจเพราะระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ChulaCov19 สูงกว่าจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และมีระดับภูมิคุ้มกันไม่ด้อยไปกว่าวัคซีนไฟเซอร์ฯ รวมถึงการทดลองกับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ 4 ชนิด คืออัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ก็ให้ผลการทดลองแบบเดียวกัน

“ข้อเท็จจริงคือตอนนี้แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรนานาชาติต่างๆ พยายามจะขอให้บริษัทยักษ์ใหญ่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศจน โดยเฉพาะ mRNA ยากมาก ส่วนใหญ่ก็จะไปตั้งโรงงานแค่บรรจุขวดเท่านั้น ฉะนั้นตอนนี้ก็เริ่มมีโรงงานอย่างน้อย 10 โรงงานทั่วโลก ตามที่ New York Times (หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา) รวบรวมมาอย่างน้อย 1 ใน 10 ก็คือบริษัทที่เราเป็นพันธมิตรมาด้วยในหลายปี คือ BioNet Asia 1 ใน 5 ของเอเชีย แอฟริกามี 2 อเมริกาใต้มี 3” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โครงการวัคซีน ChulaCov19 ผ่านการทดลองระยะที่ 2 ในมนุษย์มาแล้ว และกำลังเตรียมการทดลองในระยะที่ 3 ซึ่งหากเป็นช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนของโรคนั้นๆ ออกมา เกณฑ์สากลจะใช้อาสาสมัครประมาณ 3 หมื่นคน และใช้วิธีเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดที่ทำการทดลองกับการฉีดน้ำเกลือเป็นยาหลอก แต่ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 ขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้แล้วหลายชนิด หน่วยงานกำกับดูแลอาหารและยาของแต่ละประเทศ จึงตกลงกันว่าให้ใช้วิธีเปรียบเทียบกับวัคซีนที่มีอยู่แล้วและใช้อาสาสมัครเพียงไม่กี่พันคนได้

ส่วนสาเหตุที่กำหนดอาสาสมัครไว้ที่ประมาณ 3 หมื่นคน เนื่องจากหากมีผลข้างเคียงที่ระดับ 1 ต่อหมื่นคนน่าจะพอมองเห็นได้ แต่ถ้าผลข้างเคียงรุนแรงที่น่าจะมองเห็นได้ก็ประมาณ 3 หมื่นคนขึ้นไป และต้องติดตามต่อไปอีกว่าผู้ที่ฉีดไปแล้วหากติดเชื้อจะมีโอกาสป่วยหนักระดับต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงขั้นเสียชีวิตกี่ราย อนึ่ง สำหรับวัคซีนที่จะไปขอขึ้นทะเบียนใช้งานฉุกเฉินกับองค์การอนามัยโลกจะต้องผ่านการทดลองกับคน 3 เชื้อชาติ ซึ่งก็ต้องไปตีความกันอีก เช่น นับเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้หรือไม่

หรือต้องเป็นทวีปเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา และคอเคเชียน (ฝรั่งผิวขาว) โดยหลังจากนี้จะได้หารือกับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่สนใจประเด็นการทำให้วัคซีนโควิด-19 เข้าถึงคนยากจน ซึ่งอาจเป็นมูลนิธิให้ทุนหรือรัฐบาลให้ทุนเพื่อไปทำวิจัยที่อเมริกาใต้ แอฟริกา รวมถึงทาบทามเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องขึ้นทะเบียนในไทยและในอาเซียนให้ได้ก่อนขั้นตอนหลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้น ทั้งนี้ หากไม่มีปัญหาใดๆ คาดว่าจะยื่นขอขึ้นทะเบียนใช้งานฉุกเฉินในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2565

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และซีอีโอ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี Protein Subunit “จุฬาฯ-ใบยา” กล่าวว่า วัคซีนใบยาเริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ใช้อาสาสมัคร 96 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างติดตามผลทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย

รวมถึงกำลังรับสมัครกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีแต่ไม่เกิน 75 ปี แต่ยอมรับว่าปัจจุบันหาอาสาสมัครยากมาก เพราะคนในกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปมากแล้ว โดยหวังว่าจะเริ่มทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุได้ภายในเดือน ธ.ค. 2564 นอกจากนี้ยังมีวัคซีนรุ่น 2 ที่ผลิตออกมาแล้ว และเตรียมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ม.ค. 2565 จากนั้นในเดือน ก.พ. 2565 ทีมวิจัยจะเลือกวัคซีนที่ดีที่สุดไปใช้ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป และหวังว่าจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2565

“ทีมใบยาในขณะที่กำลังทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์ เราได้เรียนรู้เยอะมากว่าจริงๆ กระบวนการทำการวิจัยและพัฒนามันไม่มีเขียนอยู่ใน Textbook (ตำรา) เล่มไหน แล้วก็ไม่มีใครมานั่งบอกเราว่าให้เดินเลี้ยวซ้าย 3 ก้าว เลี้ยวขวา 5 ก้าว เดินตรงไปอีกนิดแล้ววันหนึ่งเราจะมีวัคซีนไปขึ้นทะเบียนได้ ฉะนั้นวันนี้เราคิดว่าเราทราบแล้ว ประเทศไทยทราบและเรามีองค์ความรู้กันแล้วในการทำวิจัยและพัฒนายาของเราเองได้” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

#การเมือง #TheFLOWsข่าวสาร #Theflowsthailand.com

#โควิด19 #ChulaCov19 #วัคซีน #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Loading

Facebook Comments Box

Related Post

ประธานสมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมในงาน Eastern Bangkok Region สสทท ณ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
พยากรณ์อากาศประเทศไทยตอนบนอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ภาคอีสานเตรียมหนาวอีกครั้งในวันที่ 27 – 29 ธ.ค. โดยอุณหภูมิจะลดลง 1–3 องศาเซลเซียส
TCEB ภาคเหนือ จัดโปรแกรมพิเศษ Fam Trip ขึ้นเหนือทีเดียวครบทั้งเที่ยวทั้งประชุม จ.พิษณุโลก MICE City วันที่ 22-24 ธันวาคม 2564

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Social Share Buttons and Icons powered by Ultimatelysocial